ตัวชี้วัดจัดเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนางาน โดยมีประโยชน์ในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน สำหรับระบบยาในโรงพยาบาลแล้ว ปัญหาสำคัญในการเก็บตัวชี้วัด คือการขาดตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานในระดับชาติ แม้ว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีตัวชี้วัดการทำงานในระบบยาซึ่งบอกถึงคุณภาพการบริหารจัดการ คุณภาพการให้บริการ และการติดตามการใช้ยาที่คล้ายคลึงกัน แต่ยังมีความแตกต่างในรายละเอียด เช่น นิยาม กรอบการวัด วิธีการเก็บข้อมูล และเกณฑ์ในการประเมินผล ส่งผลให้ไม่สามารถเทียบเคียง (benchmarking) กับโรงพยาบาลอื่นภายใต้ตัวชี้วัดเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ร่วมกันได้ รวมทั้งไม่สามารถรวบรวมข้อมูลที่แต่ละโรงพยาบาลมีเข้าด้วยกันเป็นข้อมูลระดับจังหวัด ภาค หรือระดับประเทศ
จากปัญหาข้างต้น ก่อให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาตัวชี้วัดระบบยาสำหรับโรงพยาบาลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยศูนย์สารสนเทศและวิจัยระบบยา (ศสวย.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ จัดให้มีการพัฒนาตัวชี้วัดระบบยาสำหรับสถานพยาบาลขึ้น ด้วยการระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งในภาควิชาการและภาคปฏิบัติ จัดตั้งเป็นคณะทำงานและทำการหารือร่วมกัน เพื่อพัฒนาชุดตัวชี้วัดกลางที่สถานพยาบาลต่างๆสามารถนำไปใช้ หรือไปปรับใช้ได้ จากนั้นทำการคัดเลือกตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นบางส่วน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดพื้นฐานที่มีการเก็บข้อมูลอยู่แล้วในโรงพยาบาลต่างๆทุกระดับ เพียงแต่นำเสนอนิยาม ความครอบคลุมตลอดจนวิธีการเก็บข้อมูล เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันมาทดลองใช้เก็บข้อมูลในการปฏิบัติงานของสถานพยาบาลที่ร่วมในโครงการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลต่างขนาด ทั้งใหญ่ กลาง และเล็ก รวมทั้งมีการประเมินการใช้ตัวชี้วัด เพื่อทำการปรับปรุงและใช้เป็นต้นแบบสำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศ
ตัวชี้วัดพื้นฐานที่ผ่านการทดลองใช้แล้ว ประกอบด้วย
- ระยะเวลารอรับยาเฉลี่ยผู้ป่วยนอก (มี 2 ตัวชี้วัดย่อย)
- อัตราความคลาดเคลื่อนทางยา (มี 12 ตัวชี้วัดย่อย)
- ร้อยละของผู้ป่วยนอกที่พบประวัติอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่ร้ายแรง
- จำนวนครั้งการเกิดแพ้ยาซ้ำ
- จำนวนเดือนสำรองคลัง
- จำนวนรายการยาขาด
นอกจากนี้ ยังมีตัวชี้วัดระบบยาตัวอื่นๆที่คณะทำงานพัฒนาขึ้น ซึ่ง ศสวย. จะนำมาทบทวน และทดลองใช้ในโรงพยาบาล เพื่อเผยแพร่ในโอกาสต่อไป
กิตติกรรมประกาศ
ท่านสามารถติดตามรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ ได้จาก
หนังสือ ตัวชี้วัดระบบยาในโรงพยาบาล
สั่งซื้อหนังสือตัวชี้วัดระบบยาในโรงพยาบาล .